เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนเราเรียนรู้เรื่องการเกิดมลภาวะกันแค่ในตำรา แล้วก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าอากาศเสีย ฝุ่นควันหนาแน่น น้ำเน่า และมลพิษอื่นๆ ที่มีมากเสียจนมนุษย์เราใช้ชีวิตได้อย่างยากลำบากมันเป็นยังไง เพราะมองไปในแหล่งน้ำเราก็ยังได้เห็นว่าน้ำใสดีและมีปลาแหวกว่าย สูดหายใจก็ยังได้อากาศอันสดชื่น แต่เพียงช่วงเวลาไม่นานเลยเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ปัญหามลพิษเริ่มจากเมืองๆ หนึ่งซึ่งมักเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ แล้วก็ค่อยๆ ลุกลามไปสู่พื้นที่อื่นๆ จนวันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่าพื้นที่สะอาดปราศจากมลพิษนั้นหาได้ยากกว่า ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญเหมือนกันหมด ลองมาดูว่ามีประเทศไหนบ้างที่กำลังอยู่ในสถานการณ์อันย่ำแย่
สุดยอดเมืองที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
จริงๆ แล้วมลพิษนั้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุด แล้วก็มีมาตรฐานในการวัดแบบเดียวกันทั่วโลกด้วย เราจึงนิยมใช้ปัจจัยข้อนี้เป็นตัววัดว่าประเทศใดบ้างที่กำลังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ รายชื่อต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ โดยไม่ได้เรียงอันดับความรุนแรงของปัญหา
– เมืองเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล
– เมืองเสิ่นหยาง ประเทศจีน
– เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย
– เมืองเฉิงตู ประเทศจีน
– เมืองธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ
– เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน
– เมืองคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน
– เมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
– กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
อินเดีย ครองแชมป์เป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพื้นที่แถบเอเชียใต้กลายเป็นโซนที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด อินเดียเป็นประเทศที่ติดอันดับยาวนานต่อเนื่องและปัจจุบันก็ได้ขึ้นแท่นสู่อันดับหนึ่งของโลก เหตุผลแรกของปัญหานี้ก็คงหนีไม่พ้นปริมาณประชากรที่ค่อนข้างมาก ที่ใดมีคนเยอะ การใช้ทรัพยากรและอัตราการสร้างมลภาวะก็มักจะเยอะตามไปด้วย เว้นเสียแต่ว่าจะมีมาตรการหรือแนวทางในการลดมลภาวะที่ได้ผลเพียงพอ แต่น่าเสียดายที่อินเดียยังไม่มีมาตรการเหล่านั้น อันที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากประชาชนทั้งหมด
ประเทศอินเดียมีพื้นที่ค่อนข้างมาก แต่ละโซนก็มีความหลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรม รูปแบบการใช้ชีวิต เศรษฐกิจและกลุ่มอุตสาหกรรม ในพื้นที่เมืองจะมีการจราจรหนาแน่นตลอดเวลา ควันจากท่อไอเสียจึงถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ฝุ่นควันบนท้องถนนก็ไม่เคยสงบนิ่ง ลอยฟุ้งสร้างปัญหาสุขภาพให้กับคนที่สัญจรไปมา บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมก็ปล่อยสารพิษออกสู่ธรรมชาติอย่างหนัก ยังไม่นับรวมปัญหาที่แก้ไม่หายอย่างวิถีการเผาพื้นที่ในทางการเกษตรซึ่งสร้างภาระให้กับสภาพอากาศไม่น้อยหน้าไปกว่าอุตสาหกรรมหนักเลย
ตอนนี้ประเทศอินเดียมีระบบมลพิษที่พุ่งสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว อาการที่แสดงออกในแต่ละคนก็จะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณมลพิษที่ได้รับและภูมิต้านทานภายใน บางคนก็แค่ระคายเคืองตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ดวงตา ช่องคอ ผิวหนัง เป็นต้น บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ยิ่งในผู้สูงอายุและเด็กก็ยิ่งได้ผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น ประชาชนยังคงต้องช่วยเหลือตัวเองและระมัดระวังทุกครั้งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษ แม้ว่าศาลสูงสุดของอินเดียจะเคยมีการสั่งห้ามไม่ให้จุดไฟเพื่อเผาในเชิงเกษตรกรรม แต่มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาเชิงรับเท่านั้น แล้วก็ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ต้องการด้วย คงต้องรอดูต่อไปว่าประเทศอินเดียจะหันมาจัดการด้วยแผนเชิงรุกบ้างหรือไม่ เปลี่ยนจากการแก้ไขเป็นป้องกันและหยุดยั้งปัญหา ไม่ช้าไม่นานสภาพแวดล้อมก็จะฟื้นตัวกลับมาดีเหมือนเดิมได้